ประวัติความเป็นมา          

 

        

         วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง มีการค้นพบความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากการศึกษาวิจัย ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์เพื่อพัฒนาการตรวจวินิจฉัยโรค การพัฒนายาใหม่ ๆ การดูแลรักษาและติดตามผล ตลอดจนการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นฐานความรู้ที่สำคัญยิ่งในการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปสู่ความรู้ใหม่ ในปัจจุบันการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ดังกล่าวไม่สามารถแยกเป็นสาขาย่อยโดด ๆ ได้  ต้องมีการผสมผสานเกื้อกูลระหว่างสาขาวิชาเฉพาะ ดังนั้นการสร้างบุคลากรเพื่อการศึกษาวิจัยและการพัฒนาการเรียนการสอนในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีความรู้ผสมผสานทั้งในแนวกว้างและลึก โดยมีความรู้พื้นฐานที่สำคัญ เช่น ชีววิทยาของเซลล์ และมีความรู้เฉพาะในสาขาใดสาขาหนึ่ง  เช่น  ประสาทวิทยา เภสัชวิทยา ชีวเคมี จุลชีววิทยา เวชพันธุศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา และพยาธิวิทยา เป็นต้น  กระบวนการสร้างองค์ความรู้และผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอันเป็นที่พึ่งทางวิชาการของสังคมไทยเยี่ยงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีปณิธานที่จะดำรงความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับนานาชาติ อันสอดคล้องยิ่งกับภารกิจที่กล่าวมาแล้ว  ด้วยความตระหนักในภาระและความรับผิดชอบในอันที่จะพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอนและการให้บริการทางวิชาการดังกล่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้อนุมัติให้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ (สหสาขาวิชา) และทางหลักสูตร ฯ ได้ดำเนินการเปิดรับสมัครนิสิตเข้ารับการศึกษาในปี 2544 เป็นปีแรก

         เพื่อให้หลักสูตรนี้สามารถเป็นจักรกลสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและพัฒนาบุคลากรให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศมากยิ่งขึ้นทางหลักสูตรฯ จึงขอเสนอปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ (สหสาขาวิชา) หลักสูตรปกติให้เป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาชีวเวชศาสตร์ (สหสาขาวิชา) (หลักสูตรนานาชาติ) ทางหลักสูตร ฯ มีความพร้อมอย่างยิ่งทั้งในด้านคณาจารย์ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ และมีงานวิจัยเป็นที่ยอมรับระดับประเทศและนานาชาติ ในด้านนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความรู้ความชำนาญทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ในด้านเครื่องมือและอุปกรณ์อันทันสมัยซึ่งมีมากมายกระจายอยู่ตามหน่วยวิจัยและภาควิชาต่าง ๆ  และในด้านห้องปฏิบัติการเพื่อการศึกษาวิจัยที่หลากหลายทั้งในระดับพื้นฐานและระดับคลินิก

         การปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างและการเรียนการสอนของหลักสูตรแต่อย่างใด เนื่องจากรายวิชาส่วนใหญ่แต่เดิมได้เปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมในการเปิดสอนเป็นหลักสูตรนานาชาติทั้งในด้านบุคลากร การเรียนการสอน สถานที่ และอุปกรณ์ หลักสูตรนี้ประสงค์จะเปิดรับสมัครนิสิตต่างชาติเพื่อมุ่งหวังให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติ ความคิดเห็น และวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างนิสิตชาวไทย นักศึกษาชาวต่างประเทศ คณาจารย์ และนักวิทยาศาสตร์ อันจะทำให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่มีศักยภาพทางวิชาการและงานวิจัย มีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการจากนักวิชาการในหลาย ๆ ประเทศ มีความรอบรู้และมีโลกทัศน์กว้างขึ้นในการมองและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพของนิสิตและการสร้างสรรค์งานวิจัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติในอนาคต